Focus:
- จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทย ได้ซุกซ่อนวิถีชีวิต ภูมิปัญญาชาวบ้าน และประวัติศาสตร์ไว้มากมาย จนเรียกได้ว่าเป็นเมืองที่รักษากลิ่นอายและบรรยากาศของอดีตไว้ราวกับเป็นห้วงมิติที่เวลาหยุดนิ่ง
- สาขาวิชานวัตกรรมการบริการการท่องเที่ยว วิทยาลัยดุสิตธานี ได้พานักศึกษามาเยี่ยมชมป่าโกงกางหมุนเวียน โรงเผาถ่าน และโชห่วยชุมชนตามการออกแบบเส้นทางและกิจกรรมโดย “เดอะมนต์รักแม่กลอง” ผู้ผลิตสื่อชุมชนแห่งจังหวัดสมุทรสงคราม
เมื่อกล่าวถึงสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสมุทรสงคราม หลาย ๆ คนอาจนึกถึงตลาดน้ำอัมพวา ดอนหอยหลอด หรือตลาดร่มหุบริมทางรถไฟแม่กลอง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นแลนด์มาร์คที่นักท่องเที่ยวล้วนคุ้นหูกัน แต่อันที่จริงแล้ว จังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทยแห่งนี้กลับซุกซ่อนวิถีชีวิต ภูมิปัญญาชาวบ้าน และประวัติศาสตร์ไว้มากมาย จนเรียกได้ว่าเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งเลยก็ว่าได้ ซึ่งแม้ว่าโลกภายนอกจะมีการเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน จังหวัดเล็ก ๆ แห่งนี้ก็ยังคงรักษากลิ่นอายและบรรยากาศของอดีตไว้ราวกับเป็นห้วงมิติที่เวลาหยุดนิ่ง
ด้วยเหตุนี้เอง วิทยาลัยดุสิตธานี สถานศึกษาเอกชนชั้นนำด้านธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวภายใต้เครือโรงแรมดุสิตธานี จึงพานักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชานวัตกรรมการบริการการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสาขาใหม่ล่าสุดของสถาบัน ไปเยี่ยมชมมนต์เสน่ห์ของจังหวัดสมุทรสงคราม ผ่านเส้นทางการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่ออกแบบโดย “เดอะมนต์รักแม่กลอง” ผู้ผลิตสื่อชุมชนแห่งจังหวัดสมุทรสงคราม
จังหวัดสมุทรสงครามเป็นเมือง 3 น้ำ นั่นก็คือเป็นจังหวัดที่มีแหล่งน้ำ 3 ชนิดไหลผ่านในจังหวัดเดียว ทั้งแหล่งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เรียกได้ว่าเป็นของดีประจำจังหวัดมีหลากหลายมาก ตั้งแต่ดอกเกลือนาแก้วที่มีรสชาติเค็มอมหวาน น้ำตาลมะพร้าวทำเองที่รสชาติเข้มข้นหอมหวานไม่เหมือนใคร ไปจนถึงน้ำผึ้งดอกลิ้นจี่หอมหวานที่เก็บได้เฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น แต่การลงพื้นที่ของนักศึกษาในครั้งนี้เป็นการสำรวจอาชีพที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวบ้านชุมชนเขายี่สาร นั่นก็คืออาชีพทำถ่านฟืน
สถานที่แรกที่เหล่าบรรดานักศึกษาได้ไปสัมผัสคือ คลองขุดยี่สาร แหล่งน้ำสำคัญของพื้นที่เขายี่สาร เพื่อนั่งเรือเดินทางไปพบกับป่าโกงกางหมุนเวียนที่เป็นแหล่งกำเนิดของหนึ่งในถ่านไม้ที่ดีที่สุดในโลกและสถานที่ประกอบอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านในตำบลนี้ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.สิริอาภา รัชตะหิรัญ อดีตอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ใช้ชีวิตวัยเกษียณในจังหวัดบ้านเกิดของตนเป็นผู้นำนักศึกษาไปสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของป่าโกงกางหมุนเวียนในที่ดินของตระกูลของเธอ
ผศ.สิริอาภา กล่าวถึงป่าโกงกางแห่งนี้ว่า “ที่ดินป่าโกงกางนี้เป็นของครอบครัวของอาจารย์อย่างถูกกฎหมายมาโดยตลอด นั่นหมายความว่าธุรกิจทำฟืนของเราไม่ได้บุกรุกพื้นที่ป่าธรรมชาติ อีกทั้ง ธุรกิจทำฟืนของเราไม่ใช่การตัดไม้ทำลายป่า เรามีการปลูกต้นโกงกางคืนสู่ธรรมชาติด้วยวิธีธรรมชาติด้วย นั่นก็คือการนำยอดของต้นโกงกางที่หล่นลงมาใต้ต้นมาปักชำไว้ที่เลน เพียงแค่นั้น ต้นโกงกางก็จะเติบโตได้ตามธรรมชาติของมัน แต่กว่าที่เราจะเอาต้นโกงกางมาทำฟืนได้ ต้องรอพวกเขาเติบโตกว่า 12 ปีถึงจะได้เนื้อไม้ที่เหมาะสม ระหว่างที่รอนั้น ป่าโกงกางแห่งนี้ก็ได้ให้ความอุดมสมบูรณ์คืนสู่ผืนดินของเขายี่สาร ทำให้สัตว์ป่าน้อยใหญ่ได้อาศัยอยู่อย่างสงบ นอกจากนั้นยังสร้างอาชีพและสร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชนเขายี่สาร เป็นเหมือนทรัพยากรอันมีค่าและยั่งยืนของชุมชนนี้”
หลังจากได้ชมความอุดมสมบูรณ์ของป่าโกงกางแล้ว เหล่านักศึกษาจึงได้ไปเยี่ยมชมโรงเผาถ่านของครอบครัว สถานที่ซึ่งนำไม้โกงกางมาแปรรูปเพื่อเป็นถ่านไม้ก่อนที่จะส่งออกไปขายที่ต่างประเทศ
ผศ.สิริอาภา เสริมข้อมูลเกี่ยวกับถ่านไม้โกงกางแห่งเขายี่สารว่า “ถ่านไม้โกงกางที่นี่ถือได้ว่าเป็นถ่านไม้ที่ดีที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง เพราะว่าสามารถให้ความร้อนได้สูงระดับที่ให้ไฟสีฟ้าได้ สามารถให้ความร้อนได้นานต่อเนื่อง และขี้เถ้าที่เกิดจากถ่านชนิดนี้ก็มีน้อยมาก นั่นเป็นเพราะว่าไม้โกงกางมีเนื้อไม้ที่แน่นกว่าไม้ชนิดอื่นและมีคุณสมบัติที่ดีในการเป็นถ่าน เราเคยลองใช้ไม้ชนิดอื่นมาทำถ่านแล้ว คุณภาพที่ได้ออกมาต่ำกว่าไม้โกงกางมาก จึงทำให้เรายังคงใช้ไม้โกงกางในการทำถ่านต่อไป ที่โรงเผาถ่านแห่งนี้ เรามีกระบวนการผลิตที่พิถีพิถันและแตกต่างจากการเผาถ่านแบบทั่วไป เราออกแบบเตาเผาถ่านที่สามารถเก็บความร้อนได้อย่างดีและคงที่ รวมถึงมีการระบายความร้อนที่เหมาะสม ทำให้ถ่านไม่ไหม้เกินไปและไม่ชื้นเกินไป สามารถส่งขายได้ปีละราว ๆ 20 ล้านบาท”
สถานที่สุดท้ายที่นักศึกษาสาขาวิชานวัตกรรมการบริการการท่องเที่ยว วิทยาลัยดุสิตธานี ได้ไปเยี่ยมชมคือสตูดิโอหลักของทีม “เดอะมนต์รักแม่กลอง” ซึ่งมีการจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นร้านโชห่วยชุมชน สถานที่แห่งนี้อบอวลไปด้วยเรื่องราวและสินค้าของชุมชนจากหลากหลายพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสงคราม ทั้งดอกเกลือนาแก้ว น้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้ น้ำผึ้งดอกลิ้นจี่ ถ่านไม้โกงกาง กะปิเคยตาดำ หัวน้ำปลาเข้มข้น และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงงานศิลปะจากพี่น้องในทีมที่ถ่ายทอดออกมาให้เห็นวิถีชีวิตของชาวแม่กลองอีกด้วย
ก่อนที่จะกลับสู่เมืองหลวงและปรับเฟืองนาฬิกากลับสู่ความรวดเร็วและเร่งรีบ เหล่าบรรดานักศึกษาได้ร่วมทำ workshop กับ “เดอะมนต์รักแม่กลอง” เพื่อพัฒนาทักษะการออกแบบผลิตภัณฑ์และการวางแผนการตลาดให้กับสินค้า ด้วยกิจกรรมออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กับถ่านไม้โกงกาง พร้อมวางกลุ่มเป้าหมายในการทำการตลาดให้สินค้าชนิดนี้ด้วย ในบรรยากาศที่ครึกครื้นด้วยเสียงของหนุ่มสาวที่แสดงความคิดเห็นกันอย่างสนุกสนานและเสียงฝนที่เทลงมาให้รู้สึกสดชื่นจิตใจ
พี่นก โปรดิวเซอร์ของ “เดอะมนต์รักแม่กลอง” ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการมาเยือนของวิทยาลัยดุสิตธานีในครั้งนี้ว่า “ค่อนข้างแปลกใจที่วิทยาลัยดุสิตธานีมาเยี่ยมเยียนพวกเราในครั้งนี้ เพราะพวกเรารู้จักดุสิตธานีในฐานะสถาบันสอนทำอาหาร แต่พอทางคณาจารย์ติดต่อว่ามาจากสาขาวิชานวัตกรรมการบริการการท่องเที่ยว และต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการพัฒนาสินค้าชุมชน พวกเราจึงเข้าใจและรู้สึกดีที่สนใจในชุมชนของเรา โจทย์ที่ยากสำหรับเราก็คือการออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ในพื้นที่นี้ที่ครบวงจรมากที่สุด และคิด workshop ที่จะทำให้น้อง ๆ ได้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงการเปลี่ยนภาพของคำว่าสินค้าชุมชนที่ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นของคนจน แต่เป็นสินค้าที่สะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่ได้ ดังนั้น กิจกรรมในครั้งนี้ เราตั้งใจทำให้ออกมาดีที่สุดค่ะ”
เมื่อเสียงของการนำเสนอผลงานและหยดน้ำจากฟากฟ้าได้สิ้นสุดลง ดวงอาทิตย์ก็ส่งสัญญาณว่าการจากลาได้มาถึงแล้ว แม้ว่าการเดินทางของเหล่านักศึกษาจากเมืองหลวงที่วุ่นวายจะสิ้นสุดลง แต่ภาพความทรงจำของสถานที่ที่ราวกับกาลเวลาได้หยุดลงยังคงประทับจิตใจของพวกเขาเสมอ