บทความ

อยากเป็นเชฟ เรียนที่ไหนดี? 6 ปัจจัยในการเลือกเรียนเชฟ

เขียนโดย DTC Team - Jun 22, 2020 2:26:46 AM

หนึ่งในอาชีพที่ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นที่ใฝ่ฝันของใครหลายๆ คนก็คือเชฟ ด้วยลีลาในการวาดลวดลายในครัวของสุดยอดเชฟในรายการทำอาหารดังจากทั่วโลก ทำให้อาชีพเชฟไม่เพียงถูกมองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการประกอบอาหารเท่านั้น แต่คือศิลปิน ที่สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะบนจานอาหารเพื่อให้ความสุขแก่เหล่านักกินด้วยทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องมีครบถ้วน ทำให้การเรียนรู้พื้นฐานและการฝึกฝนสำคัญอย่างมากต่อผู้ที่ต้องการเรียนเชฟ สำหรับผู้ที่กำลังต้องการเริ่มต้นตามความฝันการเป็นเชฟอยู่ เรามี 6ปัจจัยสำคัญในการเลือกเรียนเชฟ มาให้อ่านเป็นไอเดียก่อนการตัดสินใจ ไปเริ่มกันเลย

ปัจจัยที่ 1 สนใจศาสตร์การทำอาหารด้านใด?

ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเรียนเชฟ จำเป็นที่จะต้องทราบก่อนว่าตนเองสนใจศาสตร์การครัวด้านใดเป็นพิเศษ เช่น อาหารตะวันตก อาหารไทย เบเกอรี่ การตกแต่งอาหาร และอื่นๆ หากมีความสนใจพิเศษในด้านใดด้านหนึ่งแล้วก็สามารถนำไปประกอบการเลือกหลักสูตรที่ต้องการได้ เนื่องจากหลักสูตรของแต่ละสถาบันมีจุดแข็งต่างกันออกไป ผู้เรียนจึงต้องศึกษารายละเอียดของแต่ละหลักสูตร ประกอบกับความสนใจของตนเองด้วย และยิ่งไปกว่านั้นหากตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนแล้วก็จะยิ่งทำให้สามารถเลือกหลักสูตรได้ไม่ยาก เช่น ผู้ที่มีเป้าหมายในการเป็นเชฟในต่างประเทศและมีจุดแข็งในการทำอาหารตะวันตกเป็นหลัก ควรที่จะเลือกเรียนหลักสูตรนานาชาติที่สอนพื้นฐานการทำครัวมาตรฐานโลก และเป็นหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการประกอบอาหารอย่างมืออาชีพ (หลักสูตรเลอ กอร์ดอง เบลอ)

ปัจจัยที่ 2 ชื่อเสียงของสถาบัน

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าชื่อเสียงถือเป็นปัจจัยต้นๆ ที่หลายคนนำมาใช้ในการพิจารณาเลือกในการเรียนเชฟ เพราะชื่อเสียงสถาบันสามารถเป็นใบเบิกทางในการเข้าทำงาน ยิ่งถ้าเป็นสถาบันที่เปิดมาอย่างยาวนาน มีรุ่นพี่ที่ออกไปสร้างชื่อเสียงหลายต่อหลายรุ่นแล้วล่ะก็ การเรียนเชฟจบในสถาบันนั้นๆ ยิ่งทำให้คุณเป็นที่ต้องการของตลาด ใครๆก็อยากแย่งตัวไปร่วมงาน บางสถาบันถึงกับมีผู้ประกอบการใหญ่ๆไปรอจองตัวนักศึกษาปี 4 ก่อนเรียบจบเสียด้วยซ้ำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากชื่อเสียงของสถาบันแล้ว ความชอบและความสนใจในตัวหลักสูตรที่กล่าวมาในข้อ 1 ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะการเรียนเชฟไม่ได้มีแค่ศาสตร์เดียว แต่มีหลากหลายมากมายจึงต้องเลือกให้เหมาะกับความสนใจ และเลือกในสถาบันที่มีชื่อเสียงในศาสตร์นั้นๆ

ปัจจัยที่ 3 ห้องปฏิบัติการครัวและอุปกรณ์

การเรียนเชฟเป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนโดยใช้การลงมือปฎิบัติจริง ดังนั้นก่อนที่จะไปสมัครเรียนสถาบันใด ควรไปเยี่ยมชมสถานที่เรียนจริงว่ามีห้องปฏิบัติการครัวพร้อมหรือไม่ มีการแยกห้องปฎิบัติการต่างๆ อย่างเหมาะสมหรือไม่ เช่น ห้องปฎิบัติการครัว ห้องเบเกอรี่ ห้องจัดดอกไม้ ห้องเรียน Demo แบบต่างๆที่สามารถมองเห็นอาจารย์ผู้สอนขณะลงมือปฎิบัติได้จริง และต้องแน่ใจว่ามีพร้อมสำหรับนักเรียนทุกคนใน class โดยไม่ต้องแบ่งทำร่วมกับนักศึกษาคนอื่นมากเกินไป เพราะนักศึกษาควรได้ฝึกทำทุกอย่างด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความชำนาญ อีกทั้งวัตถุดิบที่ใช้ต้องมีพร้อมให้สามารถฝึกฝนการเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีและถูกต้องอีกด้วย

ปัจจัยที่ 4 ค่าเล่าเรียน

ค่าเล่าเรียนถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการประกอบการตัดสินใจ เพราะถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงและต้องจ่ายนานถึง 4 ปี จนกว่าจะจบการศึกษา ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเรียนเชฟนั้นประกอบด้วยค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายผันแปร ซึ่งค่าเทอมถือเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ส่วนค่าอุปกรณ์นั้นผันแปรตามหลักสูตรและสถาบัน ซึ่งในส่วนนี้จะต้องตรวจสอบกับสถาบันก่อนเข้าเรียนให้แน่ชัดว่านอกจากค่าเทอมแล้ว ผู้เรียนจะต้องมีการจ่ายค่าอะไรเพิ่มอีกบ้างในแต่ละเทอม เพราะบางสถาบันค่าเทอมนั้นได้ถูกรวมกับค่าวัตถุดิบแล้ว ซึ่งการจะตัดสินใจว่าค่าเทอมคุ้มค่าหรือไม่ ต้องพิจารณาด้วยว่าหลักสูตรที่เรียนตอบสนองความสนใจเราได้หรือไม่ และจากประสบการณ์รุ่นพี่ร่วมสถาบันส่วนใหญ่มีอัตราการประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับมากน้อยเพียงไร ตรงกับเป้าหมายที่เราต้องการหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ควรศึกษาเพิ่มเติมจากรุ่นพี่ที่เคยจบในสถาบันนั้นๆ อาจารย์ หรือแม้แต่เชฟที่มีประสบการณ์ เพื่อให้แน่ใจว่าคุ้มค่ากับเป้าหมายที่ตั้งไว้ในอนาคต

 

(บรรยากาศการเรียนคอร์สการประกอบอาหารญี่ปุ่นต้นตำรับ สนอโดยอาจารย์จากสถาบัน Tsuji จากประเทศญี่ปุ่น)

ปัจจัยที่ 5 ความหลากหลายของวิชาเสริม

หลังจากเข้าเรียนไปแล้ว ทุกคนก็จะค้นพบความชอบและความสนใจเพิ่มเติมในศาสตร์เฉพาะด้านอื่นๆ ซึ่งบางสถาบันจะมีวิชาเสริมพิเศษให้นักศึกษาสามารถลงเพิ่มได้ตามความสนใจ อย่างเช่น วิทยาลัยดุสิตธานี มีการทำ MOU กับ สถาบัน Tsuji จากญี่ปุ่น ให้นักศึกษาสามารถลงเรียนวิชาอาหารญี่ปุ่นกับอาจารย์ชาวญี่ปุ่นจริง ปีละครั้งตลอด 6 เดือน รวมถึง MOU กับสถาบันดังๆทั่วโลกเพื่อให้นักศึกษาสามารถลงเรียนเพิ่มได้ตามความสนใจ และให้ได้ความรู้ พื้นฐานการเรียนจริงๆ จากสถาบันระดับโลก

(ส่วนหนึ่งของสถาบันดังทั่วโลกที่มี MOU กับวิทยาลัยดุสิตธานี)

ปัจจัยที่ 6 ได้ลงสนามจริงระหว่างฝึกงาน

การฝึกงานถือเพื่อลงสนามจริงถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการเรียนเชฟ เพราะเชฟมืออาชีพจะต้องมีความแม่นยำ รวดเร็วในการปฏิบัติงานในห้องครัว นอกจากนี้แล้วยังมีทักษะการบริหารจัดการครัวอีกด้วย ดังนั้นการเลือกสถาบันที่ส่งเสริมให้นักศึกษาออกไปฝึกงานจริงนั้นสำคัญอย่างมาก โดยต้องศึกษาหลักสูตรให้ชัดเจนว่ามีการให้นักศึกษาฝึกงานมากน้อยเพียงไร และมี MOU กับที่ไหนบ้าง เพราะหากนักศึกษามีความสนใจฝึกงานเพื่พัฒนาทักษะที่สนใจ สถาบันจะต้องสามารถส่งให้ไปฝึกงานในสถานประกอบการหรือสถาบันชั้นนำทั่วโลก เพื่อให้นักศึกษาได้ประสบการณ์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงได้เรียนรู้ความหลายหลายของวัฒนธรรมการทำงานในประเทศต่างๆ อีกด้วย 

เห็นได้ว่าการเลือกเรียนเชฟหรือสาขาใดๆก็ตามไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ที่สำคัญจะต้องมีเป้าหมายที่มุ่งมั่นและมี passion กับสิ่งจะเรียนอย่างมาก เพราะถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการกำหนดเส้นทางชีวิตเลยทีเดียว โดยเฉพาะการเรียนเชฟที่ต้องอาศัยความชอบ ความอดทนเป็นอย่างมาก แต่ถ้าหากเลือกได้อย่างถูกต้อง และมีความมุ่งมั่นตั้งใจ รับรองว่าความฝันที่จะเป็นเชฟระดับโลกอยู่ไม่ไกลแน่นอน